ตรายางบริษัท’ คืออะไร สำคัญแค่ไหน ทำไมต้องมี!?
เหล่าเจ้าของบริษัท และผู้ประกอบการทั้งหลายที่กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับการจดทะเบียนบริษัท อาจเคยเห็นคำว่า ‘ตรายางบริษัท’ ผ่านตากันมาบ้าง วันนี้ จะพาผู้ประกอบการมือใหม่ ไปทำความรู้จักกับตรายางบริษัทว่าคืออะไร? จำเป็นแค่ไหน? หากจะจดทะเบียนบริษัทจำเป็นต้องมีตรายางบริษัทหรือไม่? ไปดูกันเลย!
ตรายางบริษัท คืออะไร?
ตรายางบริษัท เป็นเครื่องมือทางธุรกิจอย่างหนึ่ง ประกอบไปด้วยโลโก้บริษัท หรืออาจใส่ชื่อบริษัทเข้าไปด้วยก็ได้ ตรายางบริษัทต้องสั่งทำเป็นพิเศษ เพื่อใช้สำหรับเป็นตัวแทนบริษัท หรือองค์กร ในการรับรองเอกสาร การทำธุรกรรม และทำนิติกรรมต่างๆ โดยเฉพาะ
ตรายางบริษัท สำคัญอย่างไร?
ตรายางบริษัท มีส่วนช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในการทำสัญญา ทำธุรกรรม และทำนิติกรรมต่างๆ ทั้งยังมีควาเป็นสากล เป็นที่ยอมรับ และช่วยป้องกันการปลอมแปลงเอกสารได้ดีกว่าการใช้ลายมือชื่ออีกด้วย
จะจดทะเบียนบริษัทจำเป็นต้องทำตรายางบริษัทหรือไม่?
- สำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำเป็นต้องมีตรายางบริษัทเพื่อใช้ประกอบการจดทะเบียน ตามข้อบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 1064
- สำหรับห้างหุ้นส่วนจำกัด ไม่จำเป็นต้องมีตรายางบริษัท
- สำหรับบริษัทจำกัด ไม่จำเป็นต้องมีตรายางบริษัท
หลักเกณฑ์ในการทำตรายางบริษัท
การทำตรายางบริษัทมีหลักเกณฑ์และข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตาม ดังนี้
- ตรายางบริษัทต้องมีโลโก้บริษัท แต่อาจจะมีหรือไม่มีชื่อบริษัทก็ได้
- ในกรณีที่ตรายางมีชื่อบริษัท สามารถใช้ได้ทั้งชื่อภาษาไทย และภาษาอังกฤษ *แต่ต้องเป็นชื่อที่ตรงกับชื่อที่ขอยื่นจดทะเบียนบริษัท
- ตรายางบริษัทสำหรับนิติบุคคล หากใช้ชื่อบริษัทเป็นภาษาอังกฤษ ต้องมีการระบุประเภทของนิติบุคคลด้วย เช่น Company Limited หรือใช้ตัวย่อว่า Co.,Ltd และ Corporation Limited หรือใช้ตัวย่อว่า Corp.,Ltd ส่วนภาษาไทยใช้คำว่า บริษัท…จำกัด (แบบเต็ม)
- ตรายางบริษัทสำหรับห้างหุ้นส่วน หากใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษ ต้องระบุว่าเป็น Limited Partnership ส่วนภาษาไทยให้ใช้คำว่า ห้างหุ้นส่วน…จำกัด
- หมึกสำหรับใช้กับตรายางบริษัทไม่ควรเป็นสีดำ เพราะจะทำให้แยกไม่ออกว่าเป็นเอกสารฉบับจริง หรือเป็นสำเนา
- ตรายางบริษัท ต้องไม่มีสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมาย ดังนี้
- เครื่องหมายตรามหาจักรีบรมราชวงศ์, พระบรมราชาภิไธย, พระปรมาภิไธยย่อของพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล และพระนามาภิไธยย่อของสมเด็จพระอัครมเหสี หรือสมเด็จพระยุพราช
- พระบรมราชสัญลักษณ์ และพระราชสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์สมเด็จพระอัครมเหสี และสมเด็จพระยุพราช
- พระมหามงกุฎ, มงกุฎขัตติยราชนารี หรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์อื่นๆ ที่ใกล้เคียงกับมงกุฎ
- ฉัตรต่างๆ อันเป็นลักษณะของเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ, ตราแผ่นดิน, ตราราชการ, ตราครุฑพ่าห์ธงหลวง ธงชาติ หรือธงราชการ
- พระราชลัญจกร และลัญจกรในราชการ (ลัญจกร หมายถึง ตราประทับ)
- ชื่อ หรือเครื่องหมายกาชาด, เครื่องหมายราชการ และสัญลักษณ์ประจำชาติไทย เช่น ช้างไทย ดอกราชพฤกษ์ ศาลาไทย
สรุปแล้ว ‘ตรายางบริษัท’ ใช้เพื่อเป็นตัวแทนบริษัทในการจดทะเบียนบริษัท การรับรองเอกสาร การทำสัญญา การทำธุรกรรม และนิติกรรม แม้กฎหมายจะไม่ได้บังคับว่าต้องมี แต่ตรายางบริษัทจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ มีความเป็นสากล และช่วยป้องกันการปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งการทำตรายางสามารถสั่งผลิตได้หลากหลายรูปแบบ แต่ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์และข้อบังคับทางกฎหมาย หากต้องการทำตรายางบริษัท ก็อย่าลืมเลือกผู้ให้บริการที่ไว้ใจได้ หรือผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญ และรู้หลักเกณฑ์ในการทำตรายางบริษัทเป็นอย่างดี